02 ธันวาคม 2556

TRT โชว์ Backlog ทะลุ 3,300 ล้านบาท

ถิรไทย หรือ TRT ผู้นำตลาดผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าของไทย โชว์ผลงานเด่นช่วง ปิดเดือน 10 รับคำสั่งซื้อเข้ากระเป๋าทะลุ 1,966 ล้านบาท ผู้บริหาร TRT เผยเพราะเศรษฐกิจ และการลงทุนมีการขยายตัวอย่างชัดเจนทั้งภูมิภาค ASEAN คาดรายได้ปี 56 เพิ่มขึ้นมากกว่า 40 % เนื่องจากคำสั่งซื้อ (ออเดอร์) ของทุกผลิตภัณฑ์ขยายตัวมากขึ้น โดยเฉพาะหม้อแปลงขนาด Power หลังกวาด Backlog แล้วกว่า 3,304 ล้านบาท พร้อมย้ำภาพรวมการลงทุนยังดี การเมืองไม่กระทบ เตรียมกระโดดเข้าประมูลงานต่อเนื่องอีกในวงเงิน 5,700 ล้านบาท คาดกวาดรายได้ 20-25 %

นายสัมพันธ์ วงษ์ปาน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ถิรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TRT ผู้ผลิต จำหน่ายและซ่อมบำรุง หม้อแปลงไฟฟ้าทุกขนาดของคนไทยเพียงแห่งเดียว เปิดเผยว่า ในช่วงเดือนตุลาคม 2556 ที่ผ่านมา บริษัทได้รับคำสั่งซื้อ และมีการทำสัญญาจากลูกค้าเป็นจำนวนมากด้วยมูลค่ารวมกว่า 1,966 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นงานทั้งในส่วนของภาครัฐ และเอกชน รวมถึงส่งออกไปยังต่างประเทศ

ซึ่งในส่วนของงานภาครัฐ บริษัทได้ทำสัญญาในการสั่งซื้อหม้อแปลงไฟฟ้าระบบจำหน่ายจาก (กฟน.) การไฟฟ้านครหลวง มูลค่า 368 ล้านบาท และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 272 ล้านบาท นอกจากนี้ บริษัทยังได้รับคำสั่งซื้อจากบริษัทเอกชนในประเทศอีกกว่า 817 ล้านบาท และส่งออกอีก 353 ล้านบาท และบริษัทฯ ในเครืออีกกว่า 250 ล้านบาท ซึ่งในส่วนของภาคเอกชน และส่งออกได้มีคำสั่งซื้อในการผลิตหม้อแปลง Power มากขึ้น

ทั้งนี้คาดว่าผลประกอบการในปี 2556 จะเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะเศรษฐกิจและการลงทุนมีการขยายตัวอย่างชัดเจนทั้งภูมิภาค ASEAN คาดว่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้นมากกว่า 40 % เนื่องจากคำสั่งซื้อ (ออเดอร์) ของทุกผลิตภัณฑ์ขยายตัวมากขึ้น ปัจจุบันบริษัทฯ มีงานในมือคำสั่งซื้อ และรายได้ค้างรับ (Delivery & Backlog Orders As of October 2013) มูลค่า 3,304 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นหน่วยงานภาครัฐการไฟฟ้านครหลวง 503 ล้านบาท การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 289 ล้านบาท การไฟฟ้าฝ่ายผลิตสั่งผลิตหม้อแปลง Power อีก 268 ล้านบาท ภาคเอกชนในประเทศ 1,391 ล้านบาท และส่งออก 473 ล้านบาท และอื่น ๆ ของบริษัทย่อย 380 ล้านบาท

นายสัมพันธ์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับงานที่มีโครงการจะเปิดประมูลอย่างต่อเนื่อง ในช่วง Q3-Q4 มีมูลค่ากว่า 5,700 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค วงเงิน 2,500 ล้านบาท การไฟฟ้าฝ่ายผลิต 100 ล้านบาท และการไฟฟ้านครหลวง 400 ล้านบาท และในส่วนของภาคเอกชนภายในประเทศอีก 1,400 ล้านบาท และส่งออกประมาณ 600 ล้านบาท และงานประมูลของบริษัทย่อย 700 ล้านบาท บริษัทฯคาดว่าจะสามารถชนะการประมูลงานได้มากกว่า 20-25% ขณะที่อัตรากำไรขั้นต้น (Gross Margin) จะยังคงรักษาระดับให้ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมาไม่น้อยกว่า 20-25 % ควบคู่กับการรักษาสัดส่วนตลาดให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และมาตรการในด้านอื่นๆ เพื่อเป็นการบริหารความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่ควบคุมได้ ตามแผนธุรกิจของบริษัท