นโยบายการกำกับดูแลกิจการ
เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของบริษัทฯ สร้างความรับผิดชอบต่อผลการปฏิบัติงานตามหน้าที่ สร้างความโปร่งใสบนพื้นฐานของความซื่อสัตย์ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของกิจการอย่างยั่งยืน และเพิ่มความเชื่อมั่นให้ผู้มีส่วนได้เสีย คณะกรรมการบริษัทจึงมีนโยบายในการกำกับดูแลกิจการดังนี้
- ดำเนินกิจการด้วยความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ และเปิดเผยข้อมูลอย่างเพียงพอแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย
- บริหารงานอย่างเต็มความสามารถด้วยความระมัดระวัง เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้ถือหุ้น
- จัดให้มีระบบการควบคุมและบริหารความเสี่ยง โดยดำเนินกิจการด้วยความระมัดระวัง และมีการประเมินความเสี่ยงรวมทั้งวางกลยุทธ์ แก้ไข และติดตามการบริหารความเสี่ยงอยู่สม่ำเสมอ
- การปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้น และผู้มีส่วนได้เสียอย่างเท่าเทียมกัน และเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย
- จัดโครงสร้างบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบของกรรมการแต่ละกลุ่มอย่างชัดเจน
- ดูแลสนับสนุนให้ผู้บริหารและพนักงานปฏิบัติงานอย่างมีจริยธรรมในการประกอบธุรกิจอย่างถูกต้องและชอบธรรม
GOOD GOVERNANCE
บริษัทฯ ได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ MAI เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2549 บริษัทฯ โดย คณะกรรมการและผู้บริหาร ของบริษัทฯ มีนโยบายในการดำเนินธุรกิจอย่างโปร่งใส ยึดมั่นในคุณธรรม และอยู่ในกรอบของกฎหมายรวมถึงกรอบนโยบายการกำกับดูแลกิจการของบริษัทฯ ดังนั้น บริษัทฯ จึงได้นำแนวนโยบายในการกำกับดูแลกิจการนำไปปฏิบัติให้เกิดความโปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้และเปิดเผยข้อมูลอย่างเพียงพอแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ซึ่งบริษัทฯ จะได้รายงานผลของการนำหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีไปปฏิบัติ ในปี 2564 ตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัทจดทะเบียน ดังนี้
คณะกรรมการบริษัท ให้ความสำคัญถึงสิทธิของผู้ถือหุ้น บริษัทฯ ได้ดำเนินการตามนโยบายในการกำกับดูแลกิจการ โดยคำนึงถึงสิทธิของผู้ถือหุ้น ดังนี้
โครงสร้างผู้ถือหุ้น
โครงสร้างการถือหุ้นระหว่างบริษัทฯ กับบริษัทย่อยมีความชัดเจนโปร่งใส มีการเปิดเผยรายชื่อ จำนวน และสัดส่วนการถือหุ้นของผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทใหญ่และบริษัทย่อย ไว้ในหัวข้อเรื่อง โครงสร้างการถือหุ้นของกลุ่มบริษัทฯ
การส่งเสริมการใช้สิทธิของผู้ถือหุ้น
บริษัทฯ มีกระบวนการในการปฏิบัติเพื่อดูแลรักษาและคุ้มครองสิทธิของผู้ถือหุ้น ตั้งแต่ขั้นตอนการกำหนดนโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดี โดยคำนึงถึงสิทธิของผู้ถือหุ้น และส่งเสริมให้ผู้ถือหุ้นได้ใช้สิทธิดังกล่าว ทั้งสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ถือหุ้นภายหลังการซื้อขายหลักทรัพย์ สิทธิในการรับเงินปันผล โดยจัดให้มีการดูแลและประสานงานระหว่างผู้ถือหุ้นกับนายทะเบียนบริษัท ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด – TSD ตลอดจนจัดให้มีหน่วยงานรับผิดชอบตอบข้อซักถามและอำนวยความสะดวกแก่ผู้ถือหุ้นในด้านงานทะเบียน นอกจากนี้ ยังได้ส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ถือหุ้นมีบทบาทในการประชุมผู้ถือหุ้น ตั้งแต่สิทธิในการเข้าประชุม สิทธิในการออกเสียงลงคะแนนและแสดงความคิดเห็น เพื่อให้ผู้ถือหุ้นมีส่วนร่วมในการพิจารณาเรื่องที่สำคัญ รวมถึงบริษัทฯ มีนโยบายในการอำนวยความสะดวกและส่งเสริมให้ผู้ถือหุ้นรวมถึงนักลงทุนสถาบันเข้าร่วมประชุมผู้ถือหุ้น
การอำนวยความสะดวกในการใช้สิทธิเข้าร่วมประชุมผู้ถือหุ้น และสนับสนุนการใช้สิทธิออกเสียงของ ผู้ถือหุ้น
บริษัทฯ อำนวยความสะดวกแก่ผู้ถือหุ้นในการเข้าร่วมประชุมและให้ได้ใช้สิทธิในการเข้าร่วมประชุมอย่างเต็มที่ ไม่กระทำการใด ๆ ที่จะเป็นการจำกัดโอกาสการเข้าร่วมประชุม มีระบบการจัดการที่ส่งเสริมและสนับสนุนการใช้สิทธิของผู้ถือหุ้นตั้งแต่ก่อนวันประชุมผู้ถือหุ้น วันประชุมผู้ถือหุ้น และภายหลังวันประชุมผู้ถือหุ้น โดยยึดหลักและปฏิบัติตามแนวทางในคู่มือ “AGM Checklist” ที่กำหนดโดยสมาคมผู้ลงทุนไทย สมาคมบริษัทจดทะเบียน และ ก.ล.ต. บริษัทฯ ได้รับการประเมินจากสมาคมผู้ลงทุนไทย สมาคมบริษัทจดทะเบียน และ ก.ล.ต.ในการจัดประชุมผู้ถือหุ้นประจำปี 2564 อยู่ที่ 98 คะแนน ระดับดีเยี่ยม
จัดส่งหนังสือนัดประชุมให้ผู้ถือหุ้นทราบล่วงหน้าก่อนวันประชุมอย่างน้อย 15 วัน เผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวไว้ใน Website ของบริษัทฯ ทั้งภาษาไทย และภาษาอังกฤษ ล่วงหน้าก่อนวันประชุม 30 วัน ลง Website วันที่ 25 มีนาคม 2564 เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นได้มีเวลาศึกษาข้อมูลประกอบการประชุมล่วงหน้าเพียงพอก่อนได้รับข้อมูลในรูปแบบเอกสารจากบริษัทฯ
บริษัทฯ คำนึงถึงความเท่าเทียมกันของผู้ถือหุ้นทุกกลุ่ม เพื่อให้ผู้ถือหุ้นมีส่วนร่วมในการบริหารงาน และส่งเสริมให้มีกลไกถ่วงดุลและตรวจสอบการบริหารของบริษัทฯ ซึ่งหลักการปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นอย่างเท่าเทียมกันได้มีการดำเนินการดังนี้
การประชุมผู้ถือหุ้น
บริษัทฯ ตระหนักว่าการประชุมผู้ถือหุ้นเป็นช่องทางหนึ่งที่ผู้ถือหุ้นจะสามารถใช้สิทธิในการตรวจสอบ และควบคุมการดำเนินงานของบริษัทฯ บริษัทฯ จึงได้สนับสนุนการจัดการประชุมผู้ถือหุ้นที่ส่งเสริมให้ผู้ถือหุ้นได้ใช้สิทธิของตน และผู้ถือหุ้นทุกรายได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน ในปี 2564 บริษัทฯ ได้จัดการประชุมผู้ถือหุ้น 1 ครั้ง เป็นการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2564 โดยคณะกรรมการบริษัท ได้กำกับดูแลให้มีการดำเนินการตามขั้นตอนต่าง ๆ ในการจัดประชุมผู้ถือหุ้น โดยการเชิญประชุม ผู้ถือหุ้นจะได้ทราบ วัน เวลา สถานที่ประชุม ตลอดจนรายละเอียดวาระการประชุม ทั้งนี้ คณะกรรมการบริษัท จัดให้มีการประชุมผู้ถือหุ้นอย่างเหมาะสมด้วยเวลาที่เพียงพอ และได้มีการส่งเสริมให้ผู้ถือหุ้นมีโอกาสอย่างเท่าเทียมกันในการสอบถาม การแสดงความเห็น และข้อเสนอแนะต่าง ๆ นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้จัดเก็บรายงานการประชุมผู้ถือหุ้นที่ผ่านการรับรองจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นไว้อย่างเป็นระเบียบและปลอดภัย ง่ายต่อการตรวจสอบ
คณะกรรมการบริษัท ตระหนักถึงสิทธิและบทบาทของผู้มีส่วนได้เสียทั้งภายในและภายนอกองค์กร และได้กำหนดพันธกิจของบริษัทฯ เป็นองค์กรที่น่าเชื่อถือและให้ผลประโยชน์ตอบแทนสูงสุดสำหรับผู้มีส่วนได้เสียต่าง ๆ โดยได้กำหนดนโยบายและจรรยาบรรณในการปฏิบัติต่อผู้มีส่วนได้เสียและสิทธิตามกฎหมายของกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียต่าง ๆ อย่างเท่าเทียมกันเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อให้คณะกรรมการผู้บริหารและพนักงานทุกระดับถือปฏิบัติ
คณะกรรมการบริษัท ได้ตระหนักถึงความสำคัญต่อสิทธิของผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มที่เกี่ยวข้อง โดยผ่านทางโครงการค่านิยมองค์กร (Core Value) ประกอบด้วย 4 องค์ประกอบ ได้แก่ TQIC โดยมุ่งเน้นสร้างการทำงานเป็นทีม (Team Work), คุณภาพ (Quality), คุณธรรม (Integrity) และ การคำนึงถึงลูกค้า (Customer Focus) โครงการนี้เกิดขึ้นจากการร่วมแรงร่วมใจของผู้บริหารและพนักงานทุกระดับจากการประมวลความคิดเห็น และคิดค้นขึ้นมาจากความเป็นตัวตนของคนในองค์กร เพื่อยังประโยชน์ในการนำไปปฏิบัติอย่างจริงจัง ซึ่งค่านิยมองค์กรนี้ได้ทำการสื่อสารให้พนักงานทุกคนทุกระดับมีความเข้าใจอย่างชัดเจน นอกจากนี้ค่านิยมองค์กรได้ถูกนำไปใช้ในการคัดเลือกพนักงานใหม่และสรุปให้พนักงานใหม่เข้าใจแนวทางการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ
คณะกรรมการพร้อมผู้บริหารระดับสูง เชื่อมั่นว่าค่านิยมองค์กรที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมองค์กร ที่ถูกกำหนดจากความต้องการและทิศทางของบุคลากรในองค์กรนั้น จะนำไปสู่ปฏิบัติอย่างจริงจัง ซึ่งจะปลูกฝังจิตสำนึกที่ดีซึ่งสอดคล้องกับหลักจริยธรรมในการประกอบธุรกิจของบริษัทฯ ที่มีความโปร่งใส มีคุณธรรมต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มที่เกี่ยวข้อง ซึ่งนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายขององค์กร และเป็นกลไกหนึ่งในการปกป้องสิทธิและผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มในเวลาเดียวกัน จึงเชื่อได้ว่า บริษัทฯ ให้ความสำคัญกับผู้มีส่วนได้เสียอย่างเท่าเทียมกันทุกกลุ่มไม่ว่าจะเป็นผู้ถือหุ้น พนักงาน คู่ค้าและเจ้าหนี้ ลูกค้า คู่แข่ง ชุมชน สังคมและสิ่งแวดล้อม นอกเหนือจากนี้ได้กำหนดวิธีปฏิบัติที่ครอบคลุมถึงสิทธิและผลประโยชน์ที่ผู้มีส่วนได้เสียพึงได้รับดังนี้
ผู้ถือหุ้น
บริษัทฯ มีนโยบายที่ดูแลสิทธิของผู้ถือหุ้นในเรื่องของการได้รับข้อมูล สิทธิในการออกเสียง สิทธิที่จะได้รับการดูแลอย่างเป็นธรรมที่ผู้ถือหุ้นพึงมีพึงได้ รวมถึงการที่บริษัทฯ มีผลการดำเนินงานที่ดีอย่างต่อเนื่องเพื่อเพิ่มมูลค่าให้แก่ผู้ถือหุ้น และให้ผู้ถือหุ้นได้รับผลตอบแทนในระดับที่น่าพอใจ โดยบริษัทฯ มีโครงสร้างผู้ถือหุ้นอย่างชัดเจน ไม่มีการถือหุ้นไขว้ อีกทั้งบริษัทฯ ยังมีนโยบายไม่กีดกันหรือสร้างอุปสรรคในการเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นสามารถติดต่อสื่อสารระหว่างกัน และการไม่ละเลยต่อการเปิดเผยถึงข้อตกลงระหว่างผู้ถือหุ้น (Shareholder Agreement) ที่มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อบริษัทฯ หรือผู้ถือหุ้นรายอื่น (ถ้ามี)
สำหรับมาตรการในการอนุมัติการทำรายการเกี่ยวโยง ดำเนินการโดยคณะกรรมการตรวจสอบเป็นผู้พิจารณา ความถูกต้องตามกฎหมายและข้อบังคับ ตามสมเหตุสมผล และประโยชน์สูงสุดของบริษัทฯ ก่อนนำเสนอให้คณะกรรมการบริษัทจะเป็นผู้พิจารณาอนุมัติ โดยกรรมการผู้มีส่วนได้เสียจะงดออกเสียงในการอนุมัติรายการดังกล่าว รวมถึง ดูแลรายการเกี่ยวโยง และการได้มาและจำหน่ายไปของทรัพย์สิน ให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์ที่ตลาดหลักทรัพย์กำหนดโดยเคร่งครัด
พนักงาน
บริษัทฯ ถือว่าพนักงานเป็นหนึ่งในปัจจัยสู่ความสำเร็จขององค์กร จึงได้มุ่งมั่นในการพัฒนาปัจจัยต่าง ๆ เพื่อให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ เสริมสร้างวัฒนธรรม ส่งเสริมการทำงานเป็นทีม ให้ผลตอบแทนที่เป็นธรรม และสอดคล้องกับผลการดำเนินงานของบริษัทฯ ทั้งในระยะสั้น คือเงินโบนัส และระยะยาว คือ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เทียบเคียงกับตลาดและอุตสาหกรรมเดียวกันได้โดยจัดให้มีสวัสดิการตามกฎหมายเช่น ประกันสังคม กองทุนเงินทดแทน การปฐมพยาบาล รวมถึงจัดสวัสดิการของบริษัทฯ เช่น การประกันชีวิตกลุ่ม การประกันอุบัติเหตุและสูญเสียอวัยวะจากอุบัติเหตุ และการประกันสุขภาพ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สหกรณ์ออมทรัพย์ เงินช่วยเหลือจัดการงานศพ รถรับ-ส่งพนักงาน เป็นต้น บริษัทฯ ยังจัดให้มีระบบจัดการอาชีวะอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน OHSAS 18001 เพื่อดูแลเรื่องสุขภาพและความปลอดภัยในการทำงานของพนักงาน รวมถึง ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาความสามารถของพนักงาน และถ่ายทอดความรู้ รับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากพนักงานจะเห็นได้จากการกำหนดวัฒนธรรมองค์กรร่วมกัน โดยที่ การยึดมั่นในคุณธรรม (Integrity) เป็นส่วนหนึ่งในวัฒนธรรมองค์กรด้วย
คู่ค้าและเจ้าหนี้
บริษัทฯ มีนโยบายและได้ปฏิบัติต่อคู่ค้าและเจ้าหนี้อย่างเป็นธรรม โดยเฉพาะในเรื่องการคัดเลือกคู่ค้า บริษัทฯ มีการคัดเลือกคู่ค้าอย่างเป็นธรรม โดยกำหนดไว้ในระเบียบปฏิบัติงานอย่างชัดเจน เช่น การคัดเลือกคู่ค้ารายใหม่ การประเมินคู่ค้า การเปรียบเทียบราคาก่อนสั่งซื้อ เป็นต้น รวมถึงการปฏิบัติตามกฎหมาย และเงื่อนไขการค้า ตามสัญญาที่ตกลงทำร่วมกัน อย่างเคร่งครัด การมีจรรยาบรรณที่ดีในการดำเนินธุรกิจ รวมทั้งแนวทางการปฏิบัติที่ดีและเป็นธรรมในการกู้ยืมเงินจากเจ้าหนี้ และการชำระคืน ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการค้ำประกันให้บริษัทฯ ได้ดำเนินธุรกิจได้อย่างคล่องตัว ด้วยหลักประกันที่น้อยลง รวมถึงการบริหารเงินทุนเพื่อให้สัดส่วนโครงสร้างหนี้สินต่อทุนอยู่ในระดับที่แข็งแรงและสามารถรองรับการขยายตัวของธุรกิจในอนาคต ซึ่งในปีที่ผ่านมา บริษัทฯ ไม่มีข้อพิพาทใด ๆ จากคู่ค้าหรือเจ้าหนี้แต่อย่างใด
ลูกค้า
บริษัทฯ เอาใจใส่และรับผิดชอบต่อลูกค้าโดยผลิตสินค้าที่มีคุณภาพและมาตรฐาน และสามารถตอบสนองความต้องการลูกค้าได้เป็นอย่างดีโดยเน้นให้ความสำคัญถึงคุณภาพสินค้า การบริการและราคาที่เหมาะสม พร้อมส่งมอบสินค้าตรงเวลาที่กำหนด หากมีอุปสรรคทำให้ไม่สามารถส่งมอบสินค้าตามที่กำหนด บริษัทฯ ดำเนินการแจ้งลูกค้าทราบล่วงหน้าเพื่อร่วมกันหาแนวทางแก้ไข
คู่แข่งขัน
บริษัทฯ ได้ปฏิบัติตามกรอบกติกาการแข่งขันที่ดี เพื่อรักษาบรรทัดฐานของข้อพึงปฏิบัติในการแข่งขัน โดยในปีที่ผ่านมา บริษัทฯ ไม่มีข้อพิพาทใด ๆ ในเรื่องที่เกี่ยวกับกับคู่แข่งทางการค้า
ชุมชน สังคมและสิ่งแวดล้อม
บริษัทฯ ให้ความใส่ใจเป็นอย่างมากกับการรักษาสิ่งแวดล้อม โดยรับผิดชอบและดูแลมิให้มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของชุมชนและสังคม จากการดำเนินการดังกล่าวตามนโยบายดังกล่าว บริษัทได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO 14001 ด้านสิ่งแวดล้อมในปี 2549 และ มาตรฐานของจัดการอาชีวะอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน OHSAS 18001 จาก Management system Certificate Institution (Thailand) (MASCI) ซึ่งบริษัทได้รับการรับรองเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2552 ในปี 2562 บริษัท ได้รับรางวัลธงขาวดาวเขียว โครงการธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม ประจำปี 2561 ซึ่งเป็นการตรวจสอบผลการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยในสถานประกอบการเพื่อประเมินผลการดำเนินโครงการ โดย ถิรไทย สามารถผ่านเกณฑ์การประเมินในระดับ “ดีเยี่ยม” เป็นครั้งที่ 4 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา เมื่อ 5 มีนาคม 2561
ในปี 2560, 2562 และ 2563 บริษัท ได้รับรางวัลอุตสาหกรรมสีเขียว ระดับที่ 4 (Green Culture) จากกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม
บริษัทฯ ตระหนักถึงการเปิดเผยสารสนเทศ ทั้งที่เป็นสารสนเทศทางการเงินและข้อมูลทั่วไปของบริษัทฯ ที่ไม่ใช่การเงินอย่างถูกต้องครบถ้วน เพียงพอ เชื่อถือได้ ทันเวลา โปร่งใส ให้ผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายเข้าถึงข้อมูลได้สะดวกและได้รับข้อมูลอย่างเท่าเทียมกัน โดยการเปิดเผยข้อมูลด้วยความโปร่งใส ประกอบด้วย ภายในองค์กร บริษัทฯ จัดให้มีการพบปะระหว่างผู้บริหารกับพนักงานตั้งแต่หัวหน้าแผนกขึ้นไป เพื่อรับทราบทิศทางการดำเนินงานของบริษัทฯ และสื่อสารข้อมูล และถ่ายทอดนโยบายลงไปในส่วนของผู้อยู่ในสายบังคับบัญชา รวมทั้งจัดให้มีช่องทางแบ่งปันความรู้ในระดับพนักงาน สำหรับภายนอกองค์กร ได้ปฏิบัติตามข้อกำหนดของสำนักงานตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยมีการเปิดเผยข้อมูลทั้งภาษาไทย และภาษาอังกฤษ ผ่านช่องทางของตลาดหลักทรัพย์ฯ และทาง Website ของบริษัทฯ
คณะกรรมการบริษัท ให้ความสำคัญกับคุณภาพของรายงานทางการเงิน และเพื่อสร้างความมั่นใจในข้อมูลที่แสดงในรายงานทางการเงินมีความถูกต้อง เป็นไปตามมาตรฐานบัญชี บริษัทฯ ได้กำกับดูแลให้การจัดทำรายงานทางการเงิน ได้รับการตรวจสอบจากผู้สอบบัญชีที่เป็นอิสระ และ คณะกรรมการตรวจสอบ คณะกรรมการบริษัท ได้จัดทำรายงานความรับผิดชอบของคณะกรรมการต่อการจัดทำรายงานทางการเงินไว้ในรายงานประจำปี
นอกจากนี้ในปี 2564 บริษัทฯ ได้ให้ความสำคัญต่อการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลการดำเนินงานของบริษัทฯ ในภาพรวม และความคืบหน้าของการดำเนินงานของบริษัทฯ ผ่านกิจกรรม Opportunity Day และ สื่อมวลชนอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้รับทราบข่าวสารของบริษัทฯ อีกช่องทางหนึ่ง
ความสัมพันธ์กับผู้ลงทุน
บริษัทฯ ได้จัดให้มีส่วนงานนักลงทุนสัมพันธ์ (Investor Relation) เพื่อเป็นช่องทางในการติดต่อสื่อสารโดยตรงกับผู้ถือหุ้น นักลงทุนทั้งรายย่อยและสถาบัน นักวิเคราะห์ รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ เช่น ตลาดหลักทรัพย์ และสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. เพื่อให้บริษัทฯ มีการปฏิบัติตามกฎหมาย ข้อบังคับต่าง ๆ อย่างถูกต้องและครบถ้วน บริษัทฯ ได้มีการจัดทำแผนงานนักลงทุนสัมพันธ์ตลอดปี ซึ่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงของบริษัทฯ รวมถึงส่วนงานนักลงทุนสัมพันธ์ได้มีโอกาสให้ข้อมูลในกิจกรรมต่าง ๆ
โครงสร้างคณะกรรมการ
คณะกรรมการบริษัท ถือเป็นหัวใจสำคัญของการกำกับดูแลกิจการที่ดี โดยต้องประกอบด้วยผู้ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ที่สามารถเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทฯ คณะกรรมการบริษัท มากกว่ากึ่งหนึ่งประกอบด้วยผู้มีความรู้ และประสบการณ์การบริหารในธุรกิจหม้อแปลงไฟฟ้า โดยตรง รวมทั้งประกอบด้วยกรรมการที่มีความรู้ความสามารถในสาขาอื่น ๆ อาทิ ด้านการเงิน เศรษฐศาสตร์ เป็นต้น และกรรมการทั้งหมดได้เข้ารับการฝึกอบรมในหลักสูตรของสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทฯ ไทย (IOD) นอกจากนี้ มีการกำหนดวาระการดำรงตำแหน่งของกรรมการ และคุณสมบัติของกรรมการบริษัทรวมถึงการแต่งตั้งและถอดถอนกรรมการที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากผู้ถือหุ้น
บริษัทฯ มีการถ่วงดุลกรรมการที่ไม่เป็นผู้บริหาร โดยไม่ให้บุคคลใด หรือกลุ่มบุคคลใดมีอำนาจในการตัดสินใจแต่เพียงบุคคลเดียวหรือกลุ่มเดียว เพื่อเป็นการสร้างกลไกการถ่วงดุลและให้การบริหารงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ บริษัทฯ มีคณะกรรมการบริษัททั้งหมด 11 ท่าน เป็นกรรมการที่เป็นผู้บริหาร 4 ท่าน กรรมการที่ไม่ได้เป็นผู้บริหาร 4 ท่าน (เป็นกรรมการอิสระ 1 ท่าน) และกรรมการตรวจสอบ/กรรมการอิสระ 3 ท่าน บริษัทฯ มีกรรมการอิสระทั้งหมด 4 ท่าน คิดเป็นร้อยละ 36 ของกรรมการทั้งหมด คณะกรรมการเห็นว่าเป็นองค์ประกอบที่เหมาะสม กรรมการที่เป็นผู้บริหารสามารถให้ความเห็นในเชิงลึก ส่วนกรรมการที่ไม่ได้เป็นผู้บริหารก็เป็นผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรม ทำให้การแสดงความคิดเห็นในที่ประชุมคณะกรรมการเป็นไปอย่างสร้างสรรค์ การตัดสินใจของคณะกรรมการยึดประโยชน์ของบริษัทฯ โดยรวมเป็นสำคัญ